ข้ามไปเนื้อหา

โทกูงาวะ อิเอโยชิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โทกูงาวะ อิเอโยชิ
徳川家慶
โชกุนแห่งเอโดะ
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 1837 – ค.ศ. 1853
ก่อนหน้าโทกูงาวะ อิเอนาริ
ถัดไปโชกุน:
โทกูงาวะ อิเอซาดะ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด22 มิถุนายน ค.ศ. 1793(1793-06-22)
เสียชีวิต27 กรกฎาคม ค.ศ. 1853(1853-07-27) (60 ปี)
บุพการี

โทกูงาวะ อิเอโยชิ (ญี่ปุ่น: 徳川 家慶โรมาจิTokugawa Ieyoshi22 มิถุนายน ค.ศ. 1793 - 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1853) เป็นโชกุนคนที่ 12 แห่งตระกูลโทกูงาวะ (ช่วงสมัย: ค.ศ. 1837 ถึง ค.ศ. 1853) เป็นบุตรชายคนที่สองของโชกุนโทกูงาวะ อิเอนาริ ที่เกิดกับนางโครินอิน (Korin-in, 香琳院) เกิดในปีเดียวกับที่พี่ชายคนโตต่างมารดาเสียชีวิต จึงได้เป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งโชกุน ในปี ค.ศ. 1837 โชกุนอิเอะนะริจึงได้สละตำแหน่งโชกุนให้แก่อิเอโยชิ โดยบิดาคืออิเอนาริยังคงดำรงตำแหน่งเป็นโอโงโช (Ōgōshō, 大御所) จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในค.ศ. 1841

ในสมัยของโชกุนอิเอโยชิการปกครองอยู่ภายใต้อิทธิพลของโรจูมิซูโนะ ทาดากูนิ (Mizuno Tadakuni, 水野 忠邦) ผู้นำในการปฏิรูปปีเท็นโป (Tenpo-no-kaikaku, 天保の改革) ในปี ค.ศ. 1841 เป็นความพยายามที่จะจัดระเบียบสังคมญี่ปุ่นให้เรียบง่ายลงและเคร่งครัดมากขึ้น[1] ยกตัวอย่างเช่นการห้ามการแต่งตัวและการประดับประดาที่หรูหรา การห้ามการพิมพ์ภาพสี และการกดขี่ละครคาบูกิ หลังจากเหตุการณ์มอร์ริสัน (Morrison Incident) ในปี ค.ศ. 1837 ทำให้ บากูฟุ มีทัศนคติที่เลวร้ายต่อชาวตะวันตกลงอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการกวาดล้างขุนนางใน บากูฟุ ในค.ศ. 1839 ด้วยข้อหาข้องแวะกับรังงากุ (Rangaku, 蘭学) หรือศิลปวิทยาการตะวันตกมากเกินไป เรียกว่า การกวาดล้างขุนนางตะวันตก (Bansha-no-guku, 蛮社の獄) แต่ทว่าการปฏิรูปปีเท็นโปเป็นที่ต่อต้านอย่างมากมาย ทำให้การปฏิรูปในครั้งนี้ล้มเหลวและโรจูทะดะกุนิต้องออกจากตำแหน่งไปในค.ศ. 1843 ช่วงสมัยของโชกุนอิเอโยชิตรงกับสมัยของไดเมียวชิมาสึ นาริอากิระ (Shimazu Noriakira, 島津斉彬) แห่งแคว้นซัตสึมะ

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1853 พลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพร์รี จากสหรัฐอเมริกา ได้นำเรือรบ (ซึ่งชาวญี่ปุ่นเรียกว่า เรือดำ Kurofune, 黒船) จำนวนสี่ลำเข้ามาจอดปิดอ่าวอุระงะ (Uraga, 浦賀) ของเมืองเอโดะ โดยข่มขู่ว่าจะยิงปืนใหญ่โจมตีเมืองเอะโดะหากไม่ยอมเปิดประเทศทำการค้ากับสหรัฐอเมริกา เป็นการใช้นโยบายทางการทูตแบบเรือปืนบังคับ (Gunboat diplomacy) โรจูอาเบะ มาซาฮิโระ (Abe Masahiro, 阿部 正弘) เป็นตัวแทนฝ่ายญี่ปุ่นเจรจากับพลเรือจัตวาเพอร์รี่ ยอมรับสาส์นจากประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา พลเรือจัตวาเพอร์รี่จึงนำเรือรบไปเทียบท่าที่เมืองคุริฮะมะ (Kurihama, 久里浜) เพื่อรอคอยคำตอบ

เพียงสิบสามวันหลังจากที่เรือดำของพลเรือจัตวาเพอร์รี่ได้ย้ายไปจอดที่เมืองคุริฮะมะ โชกุนอิเอโยชิก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมลงในค.ศ. 1853 มีโทกูงาวะ อิเอซาดะ (Tokugawa Iesada, 徳川家定) บุตรชายคนที่สี่เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งโชกุนต่อมา ท่ามกลางบ้านเมืองที่กำลังสับสนวุ่นวายจากการคุกคามของชาวตะวันตก

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-29. สืบค้นเมื่อ 2011-10-29.
ก่อนหน้า โทกูงาวะ อิเอโยชิ ถัดไป
โทกูงาวะ อิเอนาริ
โชกุนแห่งเอะโดะบะคุฟุ
(ค.ศ. 1837 – 1853)
โทกูงาวะ อิเอซาดะ